พรหมวิหาร 4
ความหมายของพรหมวิหาร 4
- พรหมวิหาร แปลว่า ธรรมของพรหมหรือของท่านผู้เป็นใหญ่
พรหมวิหารเป็นหลักธรรมสำหรับทุกคน
เป็นหลักธรรมประจำใจที่จะช่วยให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างประเสริฐและบริสุทธิ์
หลักธรรมนี้ได้แก่
เมตตา ความปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข
กรุณา ความปราถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
มุทิตา ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี
อุเบกขา การรู้จักวางเฉย
คำอธิบายพรหมวิหาร 4
1. เมตตา : ความปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข
ความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา ความสุขเกิดขึ้นได้ทั้งกายและใจ เช่น
ความสุขเกิดการมีทรัพย์ ความสุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์เพื่อการบริโภค
ความสุขเกิดจากการไม่เป็นหนี้
และความสุขเกิดจากการทำงานที่ปราศจากโทษ เป็นต้น
2. กรุณา : ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ความทุกข์ คือ
สิ่งที่เข้ามาเบียดเบียนให้เกิดความไม่สบายกาย
ไม่สบายใจ และเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายประการด้วยกัน
พระพุทธองค์ทรงสรุปไว้ว่าความทุกข์มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
- ทุกข์โดยสภาวะ หรือเกิดจากเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของร่างกาย เช่น
การเกิด การเจ็บไข้ ความแก่และ
ความตายสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่เกิดมาในโลกจะต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ซึ่งรวมเรียกว่า กายิกทุกข์
- ทุกข์จรหรือทุกข์ทางใจ
อันเป็นความทุกข์ที่เกิดจากสาเหตุที่อยู่นอกตัวเรา เช่น
เมื่อปรารถนาแล้วไม่สมหวังก็เป็นทุกข์
การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก
ก็เป็นทุกข์ รวมเรียกว่า เจตสิกทุกข์
3. มุทิตา : ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี คำว่า "ดี" ในที่นี้ หมายถึง
การมีความสุขหรือมีความเจริญก้าวหน้า
ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีจึงหมายถึง
ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้น
ไม่มีจิตใจริษยา ความริษยา คือ ความไม่สบายใจ ความโกรธ
ความฟุ้งซ่านซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดีกว่าตน เช่น
เห็นเพื่อนแต่งตัวเรียบร้อยแล้วครูชมเชยก็เกิดความริษยาจึงแกล้งเอาเศษชอล์ก
โคลน หรือหมึกไปป้ายตามเสื้อกางเกงของเพื่อนนักเรียนคนนั้นให้สกปรกเลอะเทอะ
เราต้องหมั่นฝึกหัดตนให้เป็นคนที่มีมุทิตา
เพราะจะสร้างไมตรีและผูกมิตรกับผู้อื่นได้ง่ายและลึกซึ้ง
4. อุเบกขา : การรู้จักวางเฉย หมายถึง
การวางใจเป็นกลางเพราะพิจารณาเห็นว่า ใครทำดีย่อมได้ดี
ใครทำชั่วย่อมได้ชั่ว ตามกฎแห่งกรรม คือ
ใครทำสิ่งใดไว้สิ่งนั้นย่อมตอบสนองคืนบุคคลผู้กระทำ
เมื่อเราเห็นใครได้รับผลกรรมในทางที่เป็นโทษเราก็ไม่ควรดีใจหรือคิดซ้ำเติมเขาในเรื่องที่เกิดขึ้น
เราควรมีความปรารถนาดี
คือพยายามช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ในลักษณะที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
ขอกราบคารวะผู้ใหญ่ และทุกๆท่านที่มีพรหมวิหาร 4
ขอบคุณในความไม่อิจฉาริษยา อาฆาตพยาบาทต่อกัน
ขอบคุณในความเกรงกลัวและละอายต่อบาป
ละชั่ว ทำดี ทำใจให้ใส ครบถ้วนแล้วครับ
สัปปุริสธรรม 7 ธรรมของคนดี ธรรมของสัตบุรุษ ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ
คุณสมบัติของคนดี
1. ธัมมัญญุตา = รู้จักเหตุ
ความรู้จักธรรม หรือ รู้จักเหตุ คือ รู้หลักความจริง รู้หลักการ
รู้หลักเกณฑ์ รู้กฎแห่งธรรมดา รู้กฎเกณฑ์แห่งเหตุผล
รู้จักวิเคราะห์สาเหตุของสถานการณ์และรู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล อาทิ
นักเรียนรู้ว่าจะเรียนอย่างไร ต้องปฏิบัติอย่างไร
ภิกษุรู้ว่าหลักธรรมข้อนั้นๆ คืออะไร มีอะไรบ้าง
พระมหากษัตริย์ทรงทราบว่าหลักการปกครองตามราชประเพณีเป็นอย่างไร
มีอะไรบ้าง รู้ว่าจะต้องกระทำเหตุอันนี้ หรือกระทำตามหลักการข้อนี้
จึงจะให้เกิดผลที่ต้องการอันนั้น เป็นต้น
2. อัตถัญญุตา = รู้จักผล
ความรู้จักอรรถ รู้ความมุ่งหมาย หรือ รู้จักผล คือ รู้ความหมาย
รู้ความมุ่งหมาย รู้ประโยชน์ที่ประสงค์
รู้จักผลที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการกระทำหรือความเป็นไปตามหลัก เช่น
รู้ว่าหลักธรรมหรือภาษิตข้อนั้นๆ มีความหมายว่าอย่างไร หลักนั้นๆ
มีความมุ่งหมายอย่างไร กำหนดไว้หรือพึงปฏิบัติเพื่อประสงค์ประโยชน์อะไร
การที่ตนกระทำอยู่มีความมุ่งหมายอย่างไร
เมื่อทำไปแล้วจะบังเกิดผลอะไรบ้างดังนี้เป็นต้น
3. อัตตัญญุตา = รู้จักตน
ความรู้จักตน คือ รู้ว่าตัว เรานั้น ว่ามีสถานภาพเป็นอะไร ฐานะ ภาวะ เพศ
กำลัง ความรู้ ความสามารถ ความถนัด และคุณธรรม เป็นต้น ว่าขณะนี้ เท่าไร
อย่างไร แล้วประพฤติให้เหมาะสม และรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไป
4. มัตตัญญุตา = รู้จักประมาณ
ความรู้จักประมาณ คือ ความพอดี เช่น
ภิกษุรู้จักประมาณในการรับและบริโภคปัจจัยสี่
คฤหัสถ์รู้จักประมาณในการใช้จ่ายโภคทรัพย์ นักเรียนรู้จักประมาณ
กำลังของตนเองในการทำงาน
รัฐบาลรู้จักประมาณการเก็บภาษีและการใช้งบประมาณในการบริหารประเทศ
เป็นต้น
5. กาลัญญุตา = รู้จักกาล
ความรู้จักกาล คือ รู้กาลเวลาอันเหมาะสม
และระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการประกอบกิจ กระทำหน้าที่การงาน เช่น
ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลา ให้พอเวลา ให้เหมาะเวลา เป็นต้น
6. ปริสัญญุตา = รู้จักชุมชน
ความรู้จักบริษัท คือ รู้จักกลุ่มบุคคล รู้จักหมู่คณะ รู้จักชุมชน
และรู้จักที่ประชุม รู้กิริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้นๆ ว่า
ชุมชนนี้เมื่อเข้าไปหา ต้องทำกิริยาหรือปฏิบัติแบบนี้ จะต้องพูดอย่างไร
ชุมชนนี้ควรสงเคราะห์อย่างไร เป็นต้น
7. ปุคคลปโรปรัญญุตา = รู้จักบุคคล
ความรู้จักบุคคล คือ ความแตกต่างแห่งบุคคลว่า มีอัธยาศัย มีความสามารถ
มีคุณธรรม เป็นต้น ผู้ใดหยิ่งหรือหย่อนอย่างไร
และรู้ที่จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ ด้วยดี ว่าควรจะคบหรือไม่ จะใช้ จะตำหนิ
หรือยกย่อง และแนะนำสั่งสอนอย่างไร เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น